Monday, 29 April 2024
ดร.ชัยวุฒิ จิตต์กุศล

‘บอสตัน’ เมืองที่เต็มไปด้วย ‘โรงละคร’ เก่าแก่ หนึ่งเมืองที่สร้างนักแสดง สู่ในละครเวทีบรอดเวย์

เมื่อ College of Communication ของ BU ได้รับเราเข้าเรียนในโปรแกรมปริญญาโทแล้ว เราก็รู้สึกตัวเบาลง เราเลยคิดว่าเราน่าจะหาสันทนาการที่ไม่ใช่เต้นรำในคลับทำดูบ้าง สมัยนั้นยังไม่มีข้อมูลที่หาได้ง่ายเหมือนในโลกออนไลน์ของปัจจุบันนี้ ถ้าเราอยากจะได้รับข่าวสารและข้อมูลต้องพึ่งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งตีพิมพ์ เช่นนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เป็นต้น 

ส่วนใหญ่คนมักจะชอบซื้อหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์อ่าน เพราะเป็นฉบับพิเศษที่แยกส่วนบันเทิงไว้ต่างหาก ถ้าผู้อ่านอยากจะทราบว่าอาทิตย์ต่อมามีอะไรเกิดขึ้นในเมืองหรือรอบๆ บอสตันก็จะใช้หนังสือพิมพ์ไว้อ้างอิง 

ส่วนตัวเรานั้นโชคดีกว่าคนอีกหลายๆ คนเพราะเพื่อนๆ ของเราชอบดูหนัง ละครทีวี และคอนเสิร์ต ถ้ามีอะไรที่น่าสนใจพวกเขาก็กริ๊งกร๊างมาชวนไปร่วมชม คุยกันซะหลายเรื่องจนลืมเล่าไปว่าเจมและไมเคิลแนะนำให้เราได้รู้จักพี่แม็กซ์ซึ่งเป็นรุ่นพี่คนไทยเพื่อนสนิทของพวกเขา 

พี่แม็กซ์ทำงานเป็นผู้จัดการร้านอาหารไทยแถวทางใต้ของรัฐแมสซาชูเซตส์ พี่เขาจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากบียูแต่ยังไม่อยากกลับเพราะอยากจะหาประสบการณ์ไปก่อน อยู่ไปอยู่มาเลยติดลมจนยี่สิบปีผ่านไปจึงกลับบ้าน ตอนนี้พี่แม็กซ์ทำงานชั้นบริหารขององค์กรอาหารชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ตอนที่รู้จักพี่แม็กซ์นั้นมีเขาก็มีแววเป็นผู้นำ ซึ่งมักจะให้คำปรึกษาที่ดีๆ ต่อเพื่อนๆ และคนรอบข้าง เป็นคนที่มีความรู้รอบตัว ตัดสินใจเด็ดขาด และมีน้ำใจต่อเพื่อนสนิท 

ที่บ้านที่พี่แม็กซ์เช่า มีสาวข้ามเพศชาวเวียดนามและหนุ่มเกย์ชาวเขมรร่วมอาศัยอยู่ เรามักจะไปขลุกตัวอยู่บ้านพี่แม็กซ์เพราะเราเหงาอยู่คนเดียว พี่เขามักจะเตือนให้เราขยันเรียนจะได้จบปริญญาโทไวๆ พี่แม็กซ์หยุดทำงานแค่วันเดียวในหนึ่งอาทิตย์จึงแทบไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนทั้งๆ ที่พี่เขาชอบดูโชว์ทุกรูปแบบ ถึงเราจะซื้อหนังสือพิมพ์อาทิตย์ประจำ เราก็ไม่ค่อยได้อ่าน เน้นแต่จะตัดคูปองและดูใบปลิวของลดราคาจากร้านต่างๆ เราจะเสียเวลาอ่านทำไมในเมื่อเราสนิทกับพี่แม็กซ์ซึ่งเป็นเหมือนกูเกิลบันเทิงประจำกลุ่ม มีหนังหรือโชว์อะไรดีๆ พี่แกจะมาบอกให้พวกเราฟังอยู่เป็นอาจิน ถ้าพี่แม็กซ์ทำธุระส่วนตัวเสร็จในวันหยุดเราก็จะไปดูหนังหรือชอปปิงด้วยกัน 

วันหนึ่งพี่แม็กซ์รีบวิ่งมาหาพวกเราอย่างตื่นเต้นว่า ‘The Phantom of the Opera’ ของ Andrew Lloyd Webber กำลังจะมาเล่นที่บอสตันอีกหกเดือน แล้วเขาให้จองตั๋ววันศุกร์ที่จะถึง พี่เขาจะขอหยุดงานไปดูและชวนเพื่อนๆ ว่าใครจะไปบ้าง เราไม่เคยชมละครบรอดเวย์ก็เลยพากันตื่นเต้นตามพี่เขาขอจองตั๋วสองใบสำหรับตัวเราและแฟนเราที่จะตามมาอยู่อีกไม่นานนี้ เพื่อนคนอื่นๆ ติดเรียนหรือทำงานจึงไม่ได้ซื้อตั๋ว 

เนื่องจากในยุคนั้นคนอเมริกันส่วนใหญ่จะแต่งตัวสุภาพไปชมละคร และโอเปร่า พวกเราทั้งสามจึงพากันใส่เสื้อสูทและเชิ้ตเพื่อไปชมละครเพลง เมื่อวันโชว์มาถึง ตอนที่เขาพาเราไปนั่งเราก็พากันอึ้งกิมกี่เพราะที่นั่งของเราอยู่ชั้นเกือบบนสุดมองเห็นตัวนักแสดงขนาดเท่ามด บางคนที่เอากล้องส่องมาก็โชคดีไปเพราะได้มองเห็นฉากและนักแสดงได้ชัดขึ้น พวกเราสามคนปลอบใจกันเองว่าอย่างน้อยเราซื้อบรรยากาศมานั่งฟังเพลงบรอดเวย์ที่ร้องสด 

เมื่อไฟในโรงดับและไฟเวทีเจิดจ้า เราก็ไม่รู้สึกผิดหวังอีกต่อไป ทั้งระบบเสียงและการจัดฉากที่อลังการทำให้ผู้ชมในโรงละครไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหนดื่มด่ำไปกับเพลงและเนื้อหา โดยเฉพาะตอนไคลแมกซ์ที่โคมไฟแชนเดอเรียหล่นลงพื้นเหมือนจริงจนพวกเราใจหายวี้ดว้ายกันจนเสียงแหบแห้ง  

ใครที่สนใจชมละครเวที บอสตันก็มีโชว์ดีๆ มาให้ชมอย่างไม่ขาดสาย แต่ถ้าท่านผู้อ่านติดกับตัวดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง ก็ต้องไปชมที่นิวยอร์กเพราะพวกเขาจะแสดงกันที่นั่น นักแสดงที่เดินทางไปแสดงตามรัฐต่างๆ เป็นนักแสดงที่มีความสามารถไม่แพ้กับพวกดาราที่นิวยอร์ก แต่พวกเขายังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเท่าเหล่าดารา Broadway บ่อยครั้งที่ละครจะเริ่มเปิดตัวที่บอสตันก่อนเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของผู้ชมและปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นเมื่อย้ายไปนิวยอร์ก ‘Moulin Rogue’ ก็เปิดรอบปฐมทัศน์และแสดงที่บอสตันอยู่พักหนึ่งก่อนที่ไปดังเป็นพลุแตกที่บรอดเวย์ 

โรงละครในบอสตันส่วนใหญ่จะเป็นโรงละครขนาดกลาง โรงละครที่ใหญ่ที่สุดในเมืองคือ Wang Theater  ซึ่งจุผู้ชมประมาณ 3,600 กว่าคน โรงละครแห่งนี้สร้างในปีค.ศ.1925 โดยใช้ชื่อว่า The Metropolitan Theater  30 ปีต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น The Music Hall และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น The Metropolitan Center เนื่องจากโรงละครโรงนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นองค์กรที่สร้างกำไร จึงต้องหาเงินบริจาคจากธุรกิจภายนอกเพื่อช่วยในการอนุรักษ์ และจัดการโรงละคร 

ดังนั้นในปี 1983 นาย An Wang นักธุรกิจทางด้านคอมพิวเตอร์ และภรรยา Lorraine ได้เสนอให้บริษัท Wang Laboratories ของพวกเขาเป็นสปอนเซอร์ของโรงละครแห่งนี้โดยเปลี่ยนชื่อเป็น The Wang Center for the Performing Arts จนถึงปี2006 ซึ่ง Citibank มารับเป็นผู้อุปถัมภ์ต่อและเปลี่ยนชื่อเป็น Citi Performing Arts Center ท้ายสุดในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Boch Center เพื่อเป็นเกียรติแก่บริษัท Boch ซึ่งเป็นสปอนเซอร์รายล่าสุด 

นอกจากนี้พวกบริษัทที่สนับสนุนโรงละครแห่งนี้ต้องมีหน้าที่สนับสนุนโรงละคร The Shubert Theater ที่อยู่ตรงข้ามอีกด้วย นอกจากโรงละครสองแห่งนี้ยังมี The Emerson Colonial Theater, The Strand Theater, The Boston Opera House, Paramount Theater และ Modern Theater อีกด้วย 

ถ้าหากใครสนใจอยากจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมการแสดงต่างๆ สามารถคลิกได้จากลิงก์นี้ https://www.boston-theater.com 

ถ้าไม่อยากจ่ายเงินค่าบัตรราคาเต็มท่านอาจจะมีโชคได้ซื้อบัตรในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ต้องทำใจว่าจะต้องรอซื้อในวันที่การแสดงในเว็บไซต์นี้ https://calendar.artsboston.org/categories/bostix-deals/ 

กลับตัวทัน!! ทิ้งชีวิตเสเพล มุ่งหน้าไขว่คว้าหาความรู้ แนะคนจะเรียนต่อสหรัฐฯ เตรียมตัวดีมีชัยกว่าครึ่ง

เหตุการณ์ระทึกใจกับเจมส์และไมเคิลเหมือนเป็นลางเตือนให้เราเปลี่ยนการใช้ชีวิตสนุกไปวันๆ เราจึงตั้งปณิธานไว้ว่าเราจะเที่ยวแค่อาทิตย์ละวันแทนอาทิตย์ละหกวันเพื่อที่จะมุ่งหน้าสมัครเรียนปริญญาโท ก่อนที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่อเมริกาเราเรียนวิชาเอกภาษาสเปนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สมัยนั้นเด็กนักเรียนสายศิลป์ภาษามักจะนิยมเลือกเรียนคณะอักษรฯ เพราะเป็นคณะที่คะแนนสูงที่สุด เราสมัครตามเพื่อนๆโรงเรียนเตรียมอุดมฯทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ว่าคณะนี้มีเรียนอะไรบ้าง เรารู้แต่ว่ามีเรียนภาษาต่างชาติที่เราถนัดทั้ง ๆ ที่ใจของเราอยากจะเรียนโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์มากกว่า เราเลยเลือกวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ไว้เป็นอันดับสอง นึกในใจว่าอย่างไรซะเราคงไม่ติดอันดับหนึ่งแน่ ๆ เพราะอาจารย์แนะแนวฟันธงว่าเราไม่น่าจะติดคณะอักษรฯ เพราะผลการเรียนของเราไม่สูงพอที่จะเป็นไปได้ คงเป็นเพราะแกงจืดต้มหัวปลาที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ทานตอนสอบเอนทรานซ์ หรือแรงตั้งใจฮึดสู้ที่อยากจะเอาชนะการคาดการณ์ของอาจารย์แนะแนว เราดันติดคณะอักษรฯ ตอนแรกๆคุณพ่อเราไม่เห็นด้วยที่เราจะเรียนภาษาต่อเพราะท่านไม่เห็นประโยชน์ที่จะมาสานต่อทางธุรกิจของท่านในอนาคต ท่านเลยคะยั้นคะยอให้เราไปลองเรียนที่ ABAC ก่อนเผื่อจะชอบ ใจจริงเราไม่เคยชอบธุรกิจ แต่ขัดท่านไม่ได้จึงเรียนฆ่าเวลาไปพลางๆก่อนที่จุฬาฯ จะเปิดเทอม 

เมื่อถึงเวลาเราก็บอกท่านว่าเราอยากเรียนภาษาต่างประเทศอีกสักสี่ปีแล้วค่อยไปต่อปริญญาโทที่เกี่ยวกับด้านธุรกิจ เนื่องจากเราเรียนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเตรียมฯมาเป็นเวลาสามปีแล้วเราเลยรู้สึกเบื่อกับมัน เราตั้งใจจะเรียนภาษาตะวันตกใหม่ๆ ตอนปีหนึ่งเราลงเรียนภาษาอิตาเลียน แต่เราใจแตกที่มีอิสระเป็นครั้งแรกที่ขับรถเองไม่ต้องมีคนขับรถของทางบ้านมารับมาส่งตามเวลา เราจึงมักจะโดดเรียนไปเดินตามห้างมาบุญครองหรือสยามเซนเตอร์ จนอาจารย์ทั้งหลายรวมทั้งอาจารย์ที่สอนภาษาอิตาเลียนไม่เคยเห็นหน้า ถึงเราสอบผ่านทุกครั้ง แต่คะแนนจิตพิสัยนั้นแทบไม่มีเลย ผลออกมาโดนแมวข่วนได้ซีตามระเบียบ 

พอถึงปีสองต้องเลือกวิชาเอก บังเอิญฟังเพลง “La Isla Bonita” ของมาดอนนาอยู่ในรถ ฟังท่อนที่นางพูดภาษาแปลกหูแต่โรแมนติกเลยถามรุ่นพี่ที่คณะจนได้คำตอบว่าที่นางพูดนั้นเป็นภาษาสเปน เราก็เลยตัดสินใจเลือกเรียน อย่างไรเราก็ละนิสัยขี้เกียจไม่ได้ เรียน ๆ โดด ๆ จนอาจารย์ที่ปรึกษาต้องเรียกไปตักเตือนว่าให้ตั้งใจเรียน มิฉะนั้นจะเรียนไม่จบ ด้วยความกลัวทางบ้านจะเสียใจ เลยขยันขึ้นมาในปีสามและปีสี่จนได้เกรดสูงขึ้นและจบปริญญาตรีภายในสี่ปี ตอนใกล้จบเราบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าเราจะไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา พอท่านได้ยินก็พากันค้านว่าปริญญาโทก็พอสำหรับการทำธุรกิจ แต่เรายังคงยืนกรานว่าเราอยากเรียนถึงปริญญาเอก ด้วยความรักลูกท่านทั้งสองเลยอนุญาตให้เราเรียน ตอนที่จะมาอเมริกาเรายังไม่ตัดสินใจว่าจะเรียนสายไหน แต่แล้วเหมือนหลอดไฟติดขึ้นในหัวสมองว่าเราเคยอยากเรียนโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ก่อนเข้าจุฬาฯ เราควรจะมาเรียนต่อสาขานั้นแต่มาคิดอีกทีเราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนั้นเลย ทางมหาวิทยาลัยที่อเมริกาคงไม่รับเราเข้าเรียนแน่ ๆ เมื่อเราคิดได้เช่นนั้นเราก็เลยปรึกษากับพี่สาวดู โชคดีที่พี่เขามีเพื่อนที่ทำบริษัทประชาสัมพันธ์เขาเลยฝากฝังให้เราฝึกงานที่บริษัทนั้นก่อนที่จะเดินทางมาเรียนต่อ 

ขณะที่เราฝึกงานเป็นช่วงที่เสื้อผ้าแบรนด์เนมจากยุโรปเริ่มที่จะมาเปิดสาขาในประเทศไทยและทางบริษัทที่เราฝึกงานได้รับเลือกเป็นผู้ประสานงานและทำประชาสัมพันธ์ของเหล่าแบรนด์ต่างๆ เราเลยมีโอกาสเข้าร่วมจัดแฟชั่นและจัดหาสื่อโฆษณาจนมีผลงานสะสมไว้เพื่อเป็นหลักฐานสมัครเข้าหลักสูตรปริญญาโท 
 
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในบทความแรกๆว่าเราสอบวัดระดับได้เรียนภาษาอังกฤษในระดับเกือบสูงสุด ช่วงนั้นทางโรงเรียนสอนภาษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Boston University สนับสนุนให้นักเรียนที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับสูงให้ไปลองสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้หนึ่งวิชาในตอนบ่าย แต่มีเงื่อนไขที่ว่าวิชาที่เลือกเรียนในช่วงที่เรียนภาษานั้นจะไม่นับหน่วยกิต เราเลยเลือกเรียนถ่ายภาพเพราะเป็นวิชาที่เราอยากเรียนอยู่แล้ว ตอนที่เราไปเรียนถ่ายภาพเราได้รู้จักกับนักเรียนคนไทยชื่อแพร์ซึ่งกำลังเรียนโฆษณาที่ College of Communication ที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้น 

แพร์ได้แนะนำให้เราไปคุยกับฝ่ายรับนักเรียนปริญญาโทโดยตรง เพื่อที่เขาจะได้ทำความรู้จักกับเราและรู้ถึงความจำนงที่เราจะสมัครเข้าหลักสูตรปริญญาโทของคณะเขา แพร์บอกว่าการเข้าไปพบเป็นการส่วนตัวจะเอื้อให้เขาตัดสินใจรับเราได้มากกว่าถ้าเราแค่สมัครผ่านไปรษณีย์ เราเห็นด้วยกับคำแนะนำของแพร์ เราจึงนัดคุยกับหัวหน้าแผนกรับนักเรียนปริญญาโท เมื่อเขาเห็นว่าเราใช้พูดอังกฤษรู้เรื่อง เขาก็ให้เราสมัครอย่างเป็นทางการพร้อมกับลงเรียนวิชาระดับปริญญาโทสองตัวเพื่อแสดงความสามารถควบไปกับการเรียนภาษาเพื่อรักษาสถานภาพนักเรียนเต็มเวลาตามที่ทางกฎหมายสหรัฐฯได้บัญญัติไว้สำหรับนักเรียนต่างชาติ ถ้าหากว่าเราได้เกรดของสองวิชานั้นไม่ต่ำกว่าบี โอกาสที่เขาจะรับเราเข้าโปรแกรมก็จะสูงขึ้น 

‘การเหยียดเพศ’ พฤติกรรมฝังรากของ ‘ชาวตะวันตก’ ที่เชื่อฝังหัวว่า ‘ขัดหลักศาสนา’ ฝากบาดแผลทุกยุคสมัย

ก่อนที่เราจะกลับบ้าน เราถามไมเคิลกับเจมส์ว่าจะให้ไปส่งบ้านไหม เขาทั้งสองบอกว่าก็ดีเหมือนกันเพราะจะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าแท็กซี่กลับ ระหว่างทางไมเคิลกับเจมส์ก็เอ่ยปากชวนเราไปทานอาหารแถวบ้านพวกเขาในวันอังคารที่จะถึง ส่วนเราพอได้ยินแบบนั้นก็รีบตอบตกลงไปทันที เพราะตื่นเต้นจะได้มีเพื่อนไปทานอาหารตอนกลางคืน เพราะส่วนใหญ่ตัวเราจะไม่ค่อยทานอาหารเป็นเรื่องเป็นราว เรามักจะทานโดนัทหรือขนมขบเคี้ยวที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเสมอๆ

เมื่อถึงวันอังคาร เรารีบทำการบ้านจากโรงเรียนสอนภาษาให้เสร็จ เนื่องจากเรารู้ว่าเจอสองคนนี้ต้องพูดคุยกันจนถึงดึกแหง ๆ เราขับรถไปหาไมเคิลกับเจมส์ที่หน้าบ้านเขา เมื่อพวกเขาลงมาไมเคิลก็บอกให้หาที่จอดได้เลย ร้านอยู่ไม่ไกลนัก เดินประมาณห้านาทีจากบ้านเขาก็ถึง 

ประจวบเหมาะว่าวันนี้เป็นวันที่มีคอนเสิร์ตในบริเวณนั้นด้วย พวกเราเลยวนหาที่จอดรถประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าเราจะได้ที่จอดรถ ซึ่งห่างจากร้านอาหารพอสมควร ต้องเดินกันเกือบสิบห้านาที เราก็บอกกับทั้งสองว่าดีเหมือนกันเราได้ออกกำลังก่อนทานอาหารค่ำ ระหว่างที่เดินไปนั้นเราก็คุยกันเรื่องต่าง ๆ อย่างเมามัน สักครู่เราสามคนก็ได้ยินคนทำเสียงเล็กเสียงน้อยล้อเลียนมาจากข้างหลัง เราหันขวับไปเห็นเด็กหนุ่มผิวสีอายุไม่ถึงสิบแปดเดินควงสาวทำลอยหน้าลอยตาแล้วกล่าวว่า ‘Three fags on the road’ ซึ่งหมายถึง ‘ตุ๊ดสามนางบนถนน’

ไมเคิลบอกว่าไม่ต้องไปสนใจให้เดินต่อไป แต่เจมส์อดรนทนไม่ไหวหันกลับไปต่อคำว่า “Grow up” คล้าย ๆ กับว่า “โตซะบ้างได้แล้ว” ทันทีที่เจมส์หยุดพูด ไอ้หนุ่มปากเปราะรี่เข้ามาหาเจมส์และชกเขาล้มไป ไมเคิลโกรธจนหน้าแดงเลยวิ่งไปจะช่วยสู้กับเจ้าตัวร้าย 

ส่วนสาวที่ไอ้หนุ่มน้องควงมาด้วย ก็พยายามเข้ามาห้ามทัพ ตะโกนบอกให้หยุด ๆ หลายครั้ง ไอ้ตัวแสบได้สติเลยวิ่งหนีไป ทั้งไมเคิลและเจมส์รีบวิ่งตามไป แต่สองคนนั้นวิ่งหายเข้าไปในตึกอพาร์ตเมนต์ ส่วนเราสามคนที่วิ่งตามไปอย่างกระชั้นชิด ก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขวางไว้ไม่ให้เข้า โดยให้เหตุผลว่าพวกเราไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยในตึกนั้น พวกเราทั้งสามหัวเสียไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้ดึงดันจะเข้าไป พออารมณ์เย็นลงก็มาคิดกันว่าจะทำอย่างไรต่อดี ไมเคิลบอกว่าควรจะไปแจ้งตำรวจที่โรงพัก เราเลยขับรถมุ่งไปที่โรงพักใกล้ ๆ แถวที่เกิดเหตุ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทั้งสามคนไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยเผชิญอยู่ทุกวันในอเมริกา มันคือการเหยียด (discrimination) ประเทศนี้มีการเหยียดหลายอย่าง เช่น เหยียดสีผิว เหยียดเพศหลากหลาย เหยียดอายุ เหยียดความพิการ 

แต่ในที่นี้ขอเน้นแค่การเหยียดเพศหลากหลาย ประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดมาจากการก่อตั้งของพวก Puritan pilgrims พวกเขาคือชาวอังกฤษที่เคร่งศาสนาคริสต์และมุ่งมั่นที่จะตัดพิธีกรรมของคาทอลิกออกจากนิกายของอังกฤษ (Church of England) อย่างสิ้นเชิง เมื่อทางรัฐบาลอังกฤษไม่น้อมเอนตามอุดมการณ์ของพวกเขา พวกเขาจึงหนีมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ในช่วงต้นคริสต์ศักราช 1700 เพื่อจะได้มีอิสระในการนับถือศาสนาตามแนวคิดของตน 

ต่อมาแนวคิดทางศาสนาของพวกเขาได้พัฒนาเป็นนิกาย Evangelical ที่เข้มงวดในการปฏิบัติตามคำสอนพระคัมภีร์ไบเบิลทุกประโยค พวกเขาตีความว่าชาวเพศหลากหลายนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า เพราะชาวคริสเตียนควรที่จะเกิดมาเพื่อสืบพันธุ์และเผยแพร่ศาสนา ความต้องการทางเพศที่ไม่ได้ลงเอยด้วยการเกิดบุตรธิดานั้นเป็นการขัดต่อคำสอนของพระคัมภีร์และเป็นบาป 

ความเชื่อทางศาสนาของพวกเขาเป็นฐานการสร้างกฎหมายของประเทศ คนที่ไม่ได้เป็นหญิงชายตามหลักความเชื่อถูกจัดว่าเป็นคนลักเพศและควรจะถูกลงโทษตามกฎหมาย พ่อแม่เห็นลูกมีแนวโน้มที่จะชอบเพศเดียวกันก็จะจับลูกเข้าไปทำบำบัดเปลี่ยนความชอบทางเพศ (conversion therapy) ซึ่งบางทีใช้ไฟช็อต, เฆี่ยน, ขู่ หรือใช้ยากล่อมประสาท ผู้ที่ไม่ยอมทำตามที่สังคมกำหนดให้เดินมักจะสังสรรค์กันในสถานที่ลับ 

บ่อยครั้งที่ตำรวจได้เบาะแส พวกเขาก็จะไปบุกทำลายสถานที่นั้นและใช้กำลังเกินกว่าเหตุเพื่อจับกุมผู้ร่วมชุมนุม สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) เมื่อตำรวจเข้าไปบุกบาร์ใน Stonewall Inn ณ มหานครนิวยอร์ก ชาวเพศหลากหลายในบาร์นั้นไม่สามารถทนถูกกดขี่อีกต่อไปจึงฮึดสู้กับเหล่าตำรวจจนกลายเป็นจุดเริ่มของการเรียกร้องเสรีภาพทางเพศจนประสบความสำเร็จในหลายเดือนให้หลัง 

หลังจากนั้นพวกเขาได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายของรัฐที่มีความคิดก้าวหน้า เช่น แมสซาชูเซตส์ กฎหมายคุ้มครองขยายจากทีละรัฐจนกลายเป็นกฎหมายของประเทศ ทางรัฐบาลจกำหนดว่าการทำร้ายผู้ที่อยู่ในกลุ่มเพศหลากหลายเป็นอาชญากรรมที่เกิดการความเกลียด (hate crimes) ที่ควรจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก ถ้าอยากทราบรายละเอียดสามารถอ่านได้ที่: https://www.justice.gov/hatecrimes/learn-about-hate-crimes 

นอกจากนั้นปี 2015 (พ.ศ. 2558) ชาวอเมริกันในกลุ่มเพศหลากหลายได้รับสิทธิที่จะแต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามพวกเคร่งศาสนาพยายามที่จะลิดรอนสิทธิ์ของชาวเพศหลากหลายมาโดยตลอด 

และการเหยียดทางเพศทะลุสถิติอีกครั้งหลังจากที่ Donald Trump เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 (พ.ศ. 2559) ข้อมูลจากข่าวของโทรทัศน์ช่อง NBC สถิติการทำร้ายชาวเพศหลากหลายเพิ่มขึ้น 50% ในหนึ่งปีหลังจากที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง  อ่านเพิ่มได้ที่: https://www.nbcnews.com/feature/nbc-out/anti-lgbtq-homicides-nearly-doubled-2017-report-finds-n840011 

ไม่แปลกเลยที่การเหยียดต่อชาวกลุ่มน้อยต่างพวกจะทะลุเป้าในช่วงที่ทรัมป์อยู่ในทำเนียบขาว เพราะตัวเขาเองซึ่งเป็นผู้นำก็โป้ปดมดเท็จให้ร้ายกับชาวผิวสีและคนจีน 

พลเมืองที่เลียนแบบทรัมป์ โดยเฉพาะสาวความคิดอนุรักษ์นิยมอายุสามสิบต้น ๆ ในนาม Libs of TikTok ใน Twitter ได้กุเรื่องว่าชาวเพศหลากหลายพยายามจะหลอกเด็ก ๆ มาเลี้ยงเพื่อต้องการล้างสมองให้เป็นคู่นอน 

นอกจากนั้นยังหาว่าสาว ๆ ที่ข้ามเพศมาจากชายจะแต่งตัวเป็นหญิงเพื่อแอบปล้ำผู้หญิงที่เข้าห้องน้ำ ที่ร้ายที่สุดก็คือปั้นน้ำเป็นตัวว่าโรงพยาบาลเด็กในบอสตันทำลายอวัยวะเพศของเด็กเพื่อผ่าตัดข้ามเพศ คนที่คิดตามโพสต์ของนางบางคนหลงเชื่อ จนเกิดโมหะและพากันตราหน้าหรือขู่ทำร้ายพวกเพศหลากหลาย แถมยังขู่วางระเบิดโรงพยาบาลเด็กสองครั้งติด ๆ กันเพื่อที่จะป้องกันเด็กไม่ให้ข้ามเพศ อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.boston.com/news/crime/2022/11/16/boston-childrens-hospital-bomb-threat-gems-program-gender-multiservices-anti-trans/ 

นักการเมืองที่ทะเยอทะยานอยากได้คะแนนเสียงจากพวกที่เหยียดชาวเพศหลากหลายพากันออกกฎหมายลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพของพวกเขา เช่น Florida ลงโทษพ่อแม่ที่สนับสนุนให้ลูกข้ามเพศ โดยทางรัฐจะเอาเด็กไปให้ญาติหรือคนรู้จักที่ไม่เห็นด้วยต่อการข้ามเพศดูแลแทนพ่อแม่ อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.eqfl.org/Anti-Trans-Care-Bill-Filed-Senate 

ทาง Texas จะออกกฎหมายห้ามไม่ให้ทุกคน (ทั้งเด็กและผู้บรรลุนิติภาวะ) ผ่าตัดข้ามเพศ อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.cbsnews.com/news/texas-bill-ban-gender-affirming-care-transgender-adults/ 

ส่วนที่ Tennessee เพิ่งออกกฎหมายห้ามไม่ให้นักแสดงแต่งตัวข้ามเพศต่อหน้าสาธารณชนและเด็ก อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.npr.org/2023/03/06/1161452175/anti-drag-show-bill-tennessee-trans-rights-minor-care-anti-lgbtq-laws 

Let’s vogue (มาโว้กกันดีกว่า) ดื่มด่ำสไตล์การเต้นของชาวผิวสีหลากเพศ พร้อมลิ้มรสการโดนเหยียด เพราะเป็นคนต่างแดน

เราอึ้งไปพักนึงเมื่อได้ยินว่า ไมเคิล คือ แฟนของเจมส์ คบกันมาเกือบหนึ่งเดือนไม่เห็นเจมส์จะเคยพูดถึงแฟนเลย 

จะว่าไปไม่ใช่เจมส์คนเดียวที่เงียบเรื่องแฟน ตัวเราเองก็ไม่ปริปากเช่นกันว่าเรามีแฟนอยู่เมืองไทย เรากลัวว่าถ้าเราบอกเขาคงจะไม่เจอเราอีก ที่ไหนได้ต่างคนต่างมีแต่อุบไว้ 

เอาล่ะนะเป็นไงเป็นกัน เราทำใจว่าเราคงโดนไมเคิลด่าหูชาแน่ๆ หลังจากที่ทักทายกันตามมารยาท ไมเคิลบอกว่าเจมส์บอกว่าเราเป็นคนน่ารักมาก เขาเลยอยากจะเจอ แถมรู้มาว่าเราไม่มีเพื่อนเกย์เลย เขาก็อยากจะทำความรู้จักกับเราเผื่อจะพาเราไปเที่ยวคลับ 

ตอนแรกเราก็ลังเลระแวงไปว่า ไมเคิลคงจะหาทางล้างแค้นเรา แต่พอเรามาคิดกลับว่าถ้าเขามีเจตนาดีจริงๆ เราจะเสียโอกาสรู้จักคนที่ดีเป็นเพื่อน เราเลยตอบตกลงไมเคิลไปว่าเราจะเจอกับเขาและเพื่อนๆ ที่คลับ Avalon ในวันอาทิตย์ที่จะถึง 

เมื่อถึงวันนั้นเราก็ขับรถไปบาร์ เราก็ตกใจว่าค่าจอดรถข้างๆ คลับนั้นแพงมาก จ่ายไปประมาณสิบห้าเหรียญเพื่อจะจอดไม่กี่ชั่วโมง เราเลยตั้งปณิธานว่าต่อไปนี้เราจะเดินไปบาร์แทนเพื่อประหยัดค่าจอดรถ พอถึงที่คลับเราต้องจ่ายเงินค่าเข้าอีกสิบเหรียญ เราก็นึกว่าเครื่องดื่มคงรวมอยู่ในค่าเข้าด้วยเหมือนกับ DJ Station ที่กรุงเทพฯ 

แต่แล้วก็หน้าแตกเมื่อบาร์เทนเดอร์บอกเราว่าเราต้องจ่ายค่าเครื่องดื่มต่างหาก เบียร์ขวดละประมาณห้าเหรียญไม่รวมทิป เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ราคาจากเจ็ดเหรียญขึ้นไป ถ้าเป็นคนดื่มจัดเที่ยวคืนหนึ่งคงเกือบหมดตัวเลยเชียว 

เราเป็นคนที่เมาง่ายเลยสั่งแค่ไดเอทโค้กมาดื่ม ขนาดไม่มีแอลกอฮอล์ยังปาเข้าไปสามเหรียญ และพอได้รับเครื่องดื่มเสร็จก็ไปหาจุดที่นัดไมเคิลกะเจมส์ไว้ เขาบอกว่าเขาจะเต้นกันอยู่แถวๆ เวทีติดลำโพงด้านขวา เราเดินไปถึงจุดนัดพบแต่ไม่เห็นเจมส์ เราเลยเดินสำรวจคลับฆ่าเวลา 

Avalon เป็นคลับที่ใหญ่มาก เพราะรวมสองคลับไว้ด้วยกัน แถม Avalon ยังเป็นคลับหลักที่เปิดเพลงคุ้นหูเพราะเป็นเพลงที่เปิดตามวิทยุตามสมัย แต่เอามามิกซ์ใส่จังหวะเพื่อให้เต้นรำ 

ส่วน Axis คือ คลับเล็กที่เปิดเพลงเต้นรำสไตล์ House ที่เน้นจังหวะมากกว่าคำร้อง วันจันทร์ถึงเสาร์ทางคลับจะเปิด Avalon และ Axis แยกกัน คนที่ไปต้องเลือกเจาะจงว่าจะไปคลับไหน เพราะไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ 

นอกจากนั้นคลับส่วนใหญ่ที่อเมริกาจะไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อบริการเฉพาะชาวเพศหลากหลาย (LGBTQ+) เขาจะกำหนดหนึ่งหรือสองวันในแต่ละอาทิตย์ที่เน้นให้ชาวเราเที่ยว เช่นวันพุธ Axis จะใช้ชื่อว่า Venus de Milo และวันอาทิตย์ Avalon จะเปิดสองคลับทะลุถึงกันเพื่อบริการลูกค้าชาวเรา 

เมื่อเราเดินวนหนึ่งรอบ ก็มายืนรออยู่ที่เดิม รออีกสักสิบนาทีก็มีคนมาแตะไหล่ เมื่อหันไปเจมส์ก็แนะนำให้รู้จักกับไมเคิล ไมเคิลเป็นชาวฮ่องกง แต่มาโตที่อเมริกาเพราะพ่อแม่มาตั้งรกรากที่นี่ 

ผิวไมเคิลนั้นเนียนมากสมกับคำว่าหนุ่มหน้าหยก แถมยังเป็นคนหน้าตาดี อัธยาศัยดีช่างคุย ยิ้มเก่ง ทักทายพอเป็นพิธีสักพักเขาก็ชวนเราไปเต้นรำ เราเขินเพราะว่าเป็นคนไม่ชอบแสดงออก แต่กลัวเสียมารยาทเลยตอบตกลงและเดินลงฟลอร์ไปกับเขา 

เต้นกันไปสักพักดีเจก็เปิดเพลง Vogue ของ Madonna ที่ดังเป็นพลุแตกในช่วงนั้น เหล่าเก้งกวางบ่างทั้งหลายชวนกันกรี๊ดอย่างถูกใจ ฟลอร์แน่นแทบจะไม่มีที่ยืน ไมเคิลเลยกระซิบชวนเราไปเต้นบนเวทีข้างลำโพง เขาบอกว่า “Let’s vogue” หรือมาเต้นโว้กกันดีกว่า

เมื่อพูดถึงเต้นแบบโว้กท่านผู้อ่านบางคนอาจจะไม่คุ้นเคยว่าคืออะไร โว้ก (Vogue) คือการเต้นที่ผสมการออกท่าทางแบบละครใบ้ (Pantomime) ผู้เต้นจะขยับตัวเหมือนตนเองเดินแบบอยู่บนแคทวอล์ค (catwalk) มือจะแสดงท่าเหมือนว่าตนเองจะแต่งหน้า, ทำผม หรือใส่เสื้อผ้าแสนวิจิตร 

ถ้าสนใจอยากชมศิลปะการเต้นโว้ก ก็สามารถหาดูในยูทูป มิวสิควีดีโอ Deep in Vogue โดย Malcolm  McLaren https://youtu.be/kd4u0Zzc5zc เพราะเสนอตัวอย่างที่ดีของการเต้นโว้กโดยเหล่านักเต้นแนวหน้าที่นำกระแสการเต้นเฉพาะกลุ่มมาจุดประกายความสนใจของศิลปินชื่อดังทั้งหลายในยุคปลายปี 80

Madonna ใช้การเต้นโว้กเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงและเต้นประกอบในเพลง Vogue (https://youtu.be/GuJQSAiODqI) จนดังสุดโต่งในปี 1990 (พ.ศ.2533) คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจไปว่าเธอเป็นคนริเริ่มการเต้นแบบนี้คิดมาเอง ทั้งที่จริงแล้วโว้กมีจุดริเริ่มมาจากกลุ่มเพศหลากหลายของชาวผิวสีตั้งแต่ประมาณปี 1920 ยุคนั้นมีการฟื้นฟูศิลปะแขนงต่างๆในกลุ่ม

ชนผิวสีในบริเวณฮาร์เล็มในเมืองนิวยอร์กที่เรียกว่า The Harlem Renaissance นอกจากผลงานเขียนและภาพวาดจะเฟื่องฟูในยุคนี้ ได้มีการสนใจการเต้นรำแบบลีลาศ (Ballroom) ชาวเพศหลากหลายที่ชอบแต่งตัวข้ามเพศ (drag queens) ใช้เวทีเต้นรำมาสะสางความเป็นศัตรูของตนโดยการประชันเต้นแข่งกัน แทนทีจะตบตีพวกเขาใช้ท่าทางการเต้นเป็นการแสดงความเชิดใส่กัน (shading) 

จากการเต้นลีลาศพัฒนามาเป็นการโพสต์ท่าเลียนแบบตัวหนังสือภาพของอียิปต์ (hieroglyphs) และท่าที่นางแบบโพสต์ตามนิตยสารแฟชัน จึงใช้ชื่อศิลปะการเต้นตาม Vogue นิตยสารแฟชั่นชื่อดังของอเมริกา ท้ายที่สุดพวกเขาผสมผสานและประยุกต์ท่าที่โพสต์กับการเดินแบบบนแคทวอร์ก จนเป็นการเต้นโว้กที่ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ 

ชื่อที่ไม่รู้จัก จากเสียงเรียกของ 'พ่อหนุ่มคนขายเสื้อ' สู่ความสัมพันธ์คลุมเครือที่ทำให้ 'มึนตึ้บ'

เสียงเรียกของพ่อหนุ่มคนขายเสื้อดังจน เราต้องหยุดชะงักและหันหลังกลับไปมอง นึกในใจว่าเราคงหยิบของในร้านเขาติดมือมาโดยไม่รู้ตัว เขาจึงจะเรียกเราให้หยุดเพื่อเอาของคืน หรือเรียกยามมาสอยเราไปให้ตำรวจ 

แต่ที่ไหนได้ พ่อหนุ่มรับอาสาจะพาเราไปเที่ยววันรุ่งขึ้นเพราะรู้ว่าเราอยู่คนเดียวกลัวจะเหงา ถึงเราจะมีแฟนแล้วแต่แฟนของเราอยู่เมืองไทย เลยคิดเข้าข้างตัวเองตามประสาคนเจ้าชู้ว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวแฟนเรามาเราค่อยทำตัวดี 

หลังจากคิดได้แบบนั้น เราทั้งสองคนต่างก็แนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการ จึงได้รู้ว่าเขาชื่อเจมส์ หลังจากที่ออกมาจากร้าน Le Château ที่เจมส์ทำงาน เราก็เดินเล่นในศูนย์การค้า Copley Place อย่างเป็นทางการ เพราะมัวแต่ยุ่งทำธุระสารพัดสิ่งตั้งแต่ได้มาที่บอสตันจนไม่มีเวลาสำรวจแหล่งช็อปปิงเลยสักครั้ง

เอาจริงๆ ร้านค้าในศูนย์การค้าแห่งนี้ไม่ค่อยมีอะไรพิเศษ นอกจากร้าน Tiffany Gucci และ Louis Vuitton ซึ่งแต่ละร้านเป็นร้านเล็กๆ สินค้าในร้านจะเป็นแบบเรียบๆไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่ เพื่อเอาใจคนบอสตันซึ่งรักสไตล์อนุรักษ์นิยม 
 
ส่วนห้างสรรพสินค้า Neiman Marcus ที่อยู่ในมอลล์ขายของหรูหราราคาสูง แต่จะไม่ค่อยมีเสื้อผ้าที่มีไซส์คนเอเชียเนื่องจากจะเน้นขายคนอเมริกันซึ่งชอบใส่เสื้อผ้าหลวมโคร่ง ถ้าหากเดินออกจากมอลล์นี้จะมี Saks Fifth Avenue ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าคู่แข่งของ Neiman Marcus ที่มีของขายคล้ายๆ กัน 

พนักงานขายทั้งสองแห่งนี้จะเชิดมองคนเอเซียหัวจรดเท้า คงนึกว่าพวกเราไม่มีเงินที่จะซื้อของเขา ส่วนใหญ่นักเรียนต่างชาติที่ชอบเสื้อผ้าเครื่องประดับดีไซเนอร์มักจะพากันไปที่ร้าน Riccardi ที่อยู่บน Newbury Street เพราะเจ้าของ Riccardo Dalai ชาวอิตาเลียนซึ่งมาจากเมือง Florence มาตั้งรกรากที่บอสตันหลังจากที่แต่งงานกับสาวเปรี้ยวชาวอเมริกัน 

Riccardo เป็นคนมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มยินดีต้อนรับทุกคนที่เดินเข้ามาในบูติก ธุรกิจของเขาจึงเป็นที่รู้จักกันดีด้วยปากต่อปากของเหล่านักเรียนต่างชาติจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ 
 
ใครจะเดาได้ว่ายื่สิบปีให้หลัง แหล่งช็อปปิงในบอสตันจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้ถ้าใครอยากซื้อเสื้อผ้าดีไซเนอร์ชื่อดังสามารถไปที่ Copley Place ซึ่งนอกจากเป็นของ Herb Simon สามีของคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางงามจักรวาลปี พ.ศ.2531 แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมบูติกชั้นนำของโลก เช่น Christian Dior, Gucci, Fendi, Louis Vuitton, Salvatore Ferragamo, Versace ด้วย 

ส่วน Neiman Marcus และ Saks Fifth Avenue ยังดำเนินธุรกิจอยู่เช่นเดิม แต่ตอนนี้ลูกค้าไม่ต้องเดินตากแดดตากลมหนาวอีกแล้ว เพราะเขาสร้างศูนย์การค้าใหม่ Prudential Center ที่มีสะพานปล่องแก้วเชื่อม แถมตอนนี้เหล่าคนขายพากันอ้าแขนรับลูกค้าชาวเอเชียจนแทบจะปูพรมแดงให้เดินในร้าน เพราะเขาตระหนักแล้วว่าพวกเราคือนักช็อปตัวยง ซื้อของทีเหมือนซื้อลูกกวาด (กวาดซะเกือบหมดร้าน) 

ถ้าช็อปเหนื่อยแล้วลองไปหาอาหารทานใน Prudential Center เพราะเต็มไปด้วยร้านอาหารเลิศรส อาทิ Shake Shack ร้านแฮมเบอร์เกอร์ชั้นดีมีคุณภาพ, Anna’s Taqueria ร้านทาโกที่ปรุงรสละม้ายคล้ายเหมือนทานอยู่ที่เม็กซิโก หรือ Eataly แหล่งรวมอาหารอิตาเลียน ถ้าอยากแค่ดื่มกาแฟ อย่าลืมไปจิบ Blue Bottle Coffee ที่อร่อยล้ำจนอาจจะลืมกาแฟนางเงือกเขียวไปเลยเชียว 

ผู้ที่ชอบเดินสูดลมเมืองบอสตัน เมื่อออกจาก Prudential Center จะเจอ Apple Store ใหญ่ยักษ์สามชั้นอยู่ข้างหน้าบน Boylston Street เดินไปอีกบล็อกหนึ่งก็จะเป็น Newbury street ที่เต็มไปด้วยร้านค้าจากแพงหูฉี่จนถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ร้านที่ขายเสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าราคาสูงเช่น Chanel, Valentino, Giorgio Armani, Loro Piana, และ Rimowa จะอยู่ใกล้กับ Boston Public Garden สวนสาธารณะแสนงามดั่งสวนสวรรค์ของเมือง 

ในบล็อกเดียวกันคือที่ตั้งของร้านเครื่องประดับระดับแนวหน้า เช่น Tiffany, Bulgari, Cartier และ Van Cleef & Arpels ถ้าไม่ชอบเทกระเป๋าเงิน เดินลงมาสักสองบล็อกก็จะเจอร้านขายของลดราคา Nordstrom Rack หรือ H&M ร้านขายเสื้อผ้าทันสมัยราคาไม่เว่อร์ 

ถ้าชอบทานของหวานก็อย่าลืมไปแวะ Georgetown Cupcake ที่เน้นขายคัปเค้กหลากหน้า หรือ JP Licks ร้านไอศกรีมชื่อดังของบอสตัน ลืมบอกไปว่าภาษีมูลค่าเพิ่มของบอสตันอยู่ที่ 6.25% แต่ถ้าซื้อเสื้อผ้าต่ำกว่า $175 ต่อชิ้น จะไม่เสียภาษี ถ้าเกิน$175ไป จะคิดแค่ภาษีจากจำนวนที่เกินนะ

ดื่มด่ำ!! เมืองในฝันอันแสนโรแมนติกของสหรัฐฯ พิกัดตะวันออกเฉียงเหนือที่เรียกว่า New England

พี่มิกตะโกนอย่างตกใจว่ารถจะพุ่งลงแม่น้ำแล้ว เราตื่นขึ้นมาจากภวังค์หักพวงมาลัยและเหยียบคันเร่งให้รถไต่ขึ้นกลับมาบนถนน เราขอโทษพี่มิกเป็นการใหญ่ พี่มิกดุเราเล็กน้อยว่าไม่ควรสนุกจนนอนไม่พอ 

จากนั้นพี่มิกเปลี่ยนมาขับรถแทนเพื่อให้เราได้นอนพักผ่อน เราหลับตาไปสักพักก็หลับสนิท กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อรถเราเข้าเขตเมือง Albany รัฐนิวยอร์ก New York

เมื่อเอ่ยถึงรัฐนิวยอร์ก คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเมืองนิวยอร์ก (New York City) คือเมืองหลวงของรัฐ เพราะเป็นศูนย์รวมธุรกิจระดับโลก ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ร้านบูติกดีไซเนอร์ชื่อดัง และร้านอาหารของเหล่าเชฟมิชลินแห่กันมาปักหมุดอยู่ที่เมืองนี้ เนื่องจากเป็นเมืองท่าสำคัญของฝั่งตะวันออกของประเทศมากว่าสองร้อยปี

แต่ที่จริงแล้วเมืองหลวงของรัฐนิวยอร์กนั้นอยู่ที่เมืองอัลบานีซึ่งอยู่ทางเหนือ คนเลยมักจะเรียกบริเวณนี้ว่า Upstate 

ถ้าใครได้ผ่านไปเมืองนี้แล้วอยากแวะเที่ยว อย่าลืมไปแวะชมตึก New York State Capital สถานที่ว่าการของรัฐ ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าการหญิงคนแรก Kathy Hochul ดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้าชอบพิพิธภัณฑ์ ขอแนะนำให้ไป Albany Institute of History & Art และ New York State Museum ถ้าอยากจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอัลบานี ท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลได้จากเว็ปไซต์ https://www.albany.org

เมื่อผ่านจากอัลบานี เราก็เข้าในเขตBerkshires ทางตะวันตกของรัฐแมสซาชูเซตส์ (Western Massachusetts) เราพากันตื่นตาตื่นใจกับทิวทัศน์สองข้างทาง ต้นไม้เต็มไปด้วยใบไม้สีแดง, ส้ม, เหลืองทองและน้ำตาล 

เมื่อแสงแดดอ่อนยามบ่ายฉายไปบนต้นไม้และใบไม้ช่างดูเหมือนกับเมืองในฝันที่แสนโรแมนติก ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า New England ซึ่งมีหกรัฐคือ Connecticut, Maine, Massachusetts, New Hampshire, Rhode Island และ Vermont นั้นมีชื่อเสียงที่มีทิวทัศน์ของใบไม้เปลี่ยนสี (Fall Foliage) ที่แสนงาม เพราะอุดมไปด้วยต้นโอ๊คและเมเปิ้ลที่มีไว้ทำน้ำตาล (Sugar Maple) ซึ่งจัดอยู่ในต้นไม้พันธุ์เปลือกแข็งที่ผลิตใบไม้แห้งหลากสีก่อนที่จะร่วงออกจากต้น 

นักท่องเที่ยวมักจะมาภูมิภาคนี้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเพื่อที่จะได้ชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ถ้าใครได้มาแถวนิวอิงแลนด์ช่วงต้นถึงกลางเดือนตุลาคมไม่ควรพลาดโอกาสที่จะขับรถยลสีสันของมวลใบไม้ แถมดื่มด่ำบรรยากาศบ้านๆ ของชาวไร่อเมริกันในช่วงเก็บเกี่ยวแอปเปิ้ลและฟักทอง เนื่องจากผู้เขียนชินกับรัฐแมสซาซูเซตส์และนิวแฮมเชียร์ ขออนุญาตเน้นข้อมูลของสองรัฐนี้ https://berkshires.org เสนอข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในแถบตะวันตกของรัฐแมสซาชูเซตส์รวมถึงเส้นทางชมใบไม้ร่วง https://visitnh.gov/seasonal-trips/fall/peak-foliage-map บอกเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ใบไม้เปลี่ยนสีมากที่สุดของแต่ละพื้นที่ในรัฐนิวแฮมเชียร์ https://www.mass.gov/guides/pick-your-own-farms แนะนำฟาร์มที่มีบริการให้นักท่องเที่ยวเก็บผลไม้ด้วยตัวเองในรัฐแมสซาซูเซตส์ ส่วน https://www.pumpkinpatchesandmore.org/NHpumpkins.php เจาะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บแอปเปิ้ลและฟักทองในรัฐนิวแฮมเชียร์

รู้จัก ‘ทริปเปิ้ลเอ’ บริการช่วยแนะนำเส้นทาง แก่ผู้ขับรถต่างเมือง ในยุคก่อนมีจีพีเอส

สมัยนั้นเขายังอนุญาตให้คนมารับผู้โดยสารเข้ามาถึงที่หน้าประตูทางออก หลังจากที่เครื่องบินไปแตะพื้นธรณีของเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ พอออกมาก็เจอพี่มิก เพื่อนของพี่ชายมารับที่ประตูทางออก และผมก็มุ่งหน้าไปบ้านของพี่อิ๊งค์ ลูกพี่ลูกน้องที่ฝากรถเราไว้ 

ตอนนั้นพี่อิ๊งค์กับครอบครัวกลับมาเยี่ยมบ้านที่กรุงเทพฯ แต่รู้กันก่อนหน้าแล้วว่าเราจะมา พี่อิ๊งค์เลยส่งกุญแจและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับรถไปให้กับพี่มิก เมื่อผมมาถึง ก็ขับรถได้เลย แต่ต้องบอกเลยว่าตอนนั้นยังไม่ชินถนนหนทางในประเทศอเมริกาสักเท่าไหร่ จะขับทางไกลที ใจเต้นรัวเป็นเพลง EDM แทบจะเป็นลม โชคดีที่พี่มิกมาด้วย แกเลยให้ขับตาม แต่แกก็ขับเร็วเหลือเกิน เราเลยต้องคอยเร่งไล่ตามให้ทัน ไม่ให้คลาดสายตา 

ผมถอนหายใจซะหมดปอดเมื่อมาถึงบ้านพี่มิกที่เมืองซินซินแนติ (Cincinnati) หลังจากที่จอดรถเสร็จ ผมก็ไปทานอาหารจีนสไตล์อเมริกันที่หวานและเค็มนำ ส่วนใหญ่คนอเมริกันจะชอบสั่งเกี๊ยวทอดไส้ครีมชีสและปูอัดที่เรียกกันว่าปูร่างกุ้ง (Crab Rangoon) หมูแดงในรูปของซี่โครง ข้าวผัดซีอิ๊วดำใส่ต้นหอมและถั่วงอก และหมูชุบแป้งทอดผัดเปรี้ยวหวาน 

ตอนชำระเงินทางร้านจะเอาคุกกี้ทรงอีแปะใส่กระดาษพิมพ์คำคมหรือดวงแบบสั้นมาให้ ซึ่งคุกกี้แบบนี้จะเรียกว่าคุกกี้ดูดวง (Fortune cookie) และคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้ทานกัน เพราะจะอิ่มจนแน่น จึงแค่หักคุกกี้เพื่ออ่านข้อความที่อยู่บนกระดาษเพื่อความบันเทิง ส่วนคนไทยจะชอบเอาตัวเลขที่อยู่บนกระดาษมาซื้อลอตเตอรี่ เราเองชอบทานคุกกี้แบบนี้เพราะแป้งมีความหวานอ่อนๆ กลิ่นวานิลาเป็นการล้างปากจากอาหารคาว  

พี่มิกรู้ว่าวันรุ่งขึ้นเราต้องขับรถกลับกันมาที่บอสตัน แกจึงพาเราไปแวะที่สำนักงานของทริปเปิ้ลเอ (AAA) เพื่อไปปรึกษาหาเส้นทางที่จะขับมาถึงแมสซาชูเซตส์อย่างเร็วที่สุด ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจว่าสมัยนั้นยังไม่มีจีพีเอส เวลาจะขับรถกันไปต่างเมืองทีต้องพึ่งแผนที่ ทางองค์กรทริปเปิ้ลเอ ชึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า American Automobile Association มีบริการช่วยแนะนำเส้นทางขับรถต่างเมืองให้คนที่สมัครเป็นสมาชิกรายปี ซึ่งขณะนี้ตกประมาณ 65 เหรียญสหรัฐ นอกจากนั้นสมาชิกยังสามารถรับสิทธิ์ซื้อประกันรถให้ราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ได้รับบริการลากรถและช่วยเปลี่ยนล้อที่ยางแบน คนทั่วไปจึงนิยมกันเป็นสมาชิกทริปเปิ้ลเอ จนเป็นองค์กรที่ใหญ่โตของสหรัฐฯ และแคนาดา ถึงแม้ว่ายุคนี้จะไม่ต้องพึ่งเรื่องแผนที่เหมือนแต่ก่อน ก็ยังมีประโยชน์กับการขับรถทางไกลอยู่ ถ้าสนใจอยากจะทราบรายละเอียดลองเช็กดูโดยตรงที่เว็บไซต์ https://www.aaa.com/stop 

ขับรถในบอสตัน กฎระเบียบสุดเคร่งครัด ‘ทั้งจอด-ทั้งขับ’ สุ่มสี่สุ่มห้า เจอค่าปรับแบบไร้ปรานี

ความเดิมจากตอนที่แล้ว...เมื่อทุกคนไม่เห็นรถแวนที่จอดทิ้งไว้ ต่างก็หน้าม่อยไปตาม ๆ กัน คิดว่ารถถูกสอยไปเรียบร้อยแล้ว เผอิญคุณอาผู้หญิงมองรอบ ๆ อีกครั้ง ตาท่านก็ไปหยุดอยู่ที่ป้ายบนเสา ที่มีตัวหนังสือสีเขียว ‘ที่จอดรถของผู้พักอาศัย’ (Resident Permit Parking) ท่านเลยถึงบางอ้อ!! ว่ารถของท่านจอดผิดกฎหมาย คงถูกบริษัทลากรถเอาไปไว้ที่รถชานเมืองแน่ ๆ 

เมื่อคิดได้ดังนั้น ท่านจึงโทรศัพท์ไปที่อู่จอดรถ เราสามคนต้องนั่งรถแท็กซี่ไป ตอนลงรถจ่ายรวมค่าบริการ 30 เหรียญ แถมต้องจ่ายค่าปรับอีก 100 เหรียญ รวมแล้วก็มากโขอยู่สำหรับค่าของเงินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ว่าแล้วผู้เขียนก็ขออนุญาตเอาเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณอามาเป็นอุทาหรณ์สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจจะไปเที่ยวหรือเรียนที่รัฐแมสซาซูเซตส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในใจกลางเมืองบอสตันว่า ‘อย่าจอดรถสุ่มสี่สุ่มห้า’ ให้สังเกตสภาพแวดล้อมให้ดีเสียก่อน อ่านป้ายที่ทางการติดไว้ให้เข้าใจว่าจอดได้จริงๆ จำไว้ว่าถ้าเราหยอดมิเตอร์แล้วจ่ายเงินเต็มช่วงเวลา สมมติว่าหยอดมิเตอร์ได้สูงสุดสองชั่วโมง เขาไม่อนุญาตให้เรามาหยอดต่อเมื่อใกล้หมดสองชั่วโมง เราต้องย้ายไปจอดที่อื่น มิฉะนั้นเขาจะปรับ 40 เหรียญ 

และอย่าคิดว่าถ้ามีมิเตอร์ให้หยอดเหรียญจ่ายค่าจอดแล้วเราจะจอดได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะบางแห่ง วันจันทร์ถึงศุกร์หลัง 6 โมงเย็น จนถึง 10 เช้าของวันถัดไป เขาอนุญาตให้แต่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นที่มีสติ๊กเกอร์จอด ป้ายจะเขียนว่า ‘Resident Permit Parking 6 pm - 10 am Mon. to Fri.’ ถ้าเราไปฝืนกฎ เราต้องจ่ายค่าปรับหกสิบเหรียญ 

นอกจากนั้นแล้ว ต้องระมัดระวังวันและเวลาที่ทางเมืองทำความสะอาดถนน บางแห่งจะจอดข้ามคืนไม่ได้ในวันที่เขากำหนดเช่น ‘Street Cleaning Tuesday 2 AM - 7 AM’ ถ้าวันที่เราจะจอด เช่น วันจันทร์กลางคืนข้ามไปถึงอังคารเช้า เราก็ต้องไปหาที่อื่น บางแห่งป้ายยิ่งชวนงง เช่น ‘Street Cleaning 2nd & 4th Tuesday 12 noon - 4 pm’ ถ้าเจอแบบนี้ ต้องงัดปฏิทินในมือถือมาดูว่าอังคารนี้ที่ 2 หรือ 4 ของเดือนหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ห้ามจอดจากเที่ยงวันถึง 4 โมงเย็น ถ้าฝืนเราจะโดนปรับ 40 เหรียญ 

แต่ส่วนใหญ่หลังจาก 30 พฤศจิกายน ถึง 31 มีนาคม เขาจะไม่ทำความสะอาดถนน เพราะเข้าฤดูหนาว สิ่งที่เราต้องระวังในช่วงนั้นคือเขามีป้าย ‘No Parking During Snow Emergency’ หรือเปล่า ถ้ามี เราเห็นหิมะตก เราต้องคอยดูข่าวว่ามีประกาศห้ามจอดหรือไม่ ถ้าขี้เกียจดูข่าว ก็สามารถโทรไปเช็กที่ (617) 635-3050 ถ้าเราดันทุรังจอด เราจะต้องจ่าย 45 เหรียญ ที่แย่กว่านั้นถ้าหากรถเราโดนลากไปอู่ เราต้องจ่ายทั้งค่าปรับและค่าลาก ยิ่งไปกว่านั้นสมมติว่าเราจอดในช่วงที่เขาประกาศห้ามจอดเพราะหิมะตกหนัก แล้วรถเราถูกลาก เราต้องจ่ายค่าปรับ 45 เหรียญบวกกับค่าลากอีกประมาณ 100 เหรียญ รวมสะระตะแล้ว 145 เหรียญเลยครับ แล้วโปรดจำไว้ด้วยว่าเขารับแค่เงินสดเท่านั้น 

ฉะนั้นถ้าหากเราสงสัยว่ารถถูกลาก แล้วอยากจะรู้ว่ารถเราอยู่อู่ไหน เราสามารถไปเว็บไซต์ https://www.cityofboston.gov/towing/search แล้วใส่เบอร์ทะเบียนรถเราลงไป เราก็จะได้ข้อมูลว่ารถเราถูกลากหรือไม่ ถ้าถูกลาก เขาจะบอกว่าเราจะไปเอารถได้จากอู่ไหน

กลับมาที่เหตุการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่ย้ายเข้าบ้านอีกไม่นาน ผมก็ต้องไปสอบใบขับขี่เพื่อที่จะไปเอารถที่พี่ชายทิ้งไว้ให้ที่บ้านลูกพี่ลูกน้องในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ โดยปัจจุบันสมัครสอบข้อเขียนได้ที่ https://www.mass.gov/how-to/apply-for-a-passenger-class-d-learners-permit สำหรับใบขับขี่รถส่วนตัว ซึ่งทางอเมริกาเขาเรียกว่าใบขับขี่แบบ ‘Class D’ พอกรอกใบสมัครเสร็จ อย่าลืมขอคู่มือผู้ขับรถ (Driver’s Manual) จากในเว็บไซต์มาอ่านและจำให้ขึ้นใจเพราะข้อสอบจะมาจากข้อมูลในหนังสือเล่มนั้น เมื่อถึงวันสอบทางรัฐแมสซาซูเซตส์ให้ยื่นเอกสารที่แสดงว่าเราถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีเอกสาร I-20 ทางสถานศึกษาหรือวีซ่าทำงานก็ใช้ได้ พร้อมด้วยเลขที่บัตรประกันสังคม (Social Security Number) และหลักฐานว่าเราอยู่อาศัยในรัฐ เช่นใบแจ้งหนี้จากบริษัทไฟฟ้า น้ำ หรือสัญญาเช่าอพาร์ตเมนต์ 

ย้ำว่า!! ทุกเอกสารต้องเป็นตัวจริง ก่อนจะไปสมัครสอบข้อเขียนควรจะเช็กข้อมูลอีกทีที่เว็บไซต์ https://mass.gov/guides/massachusetts-identification-id-requirements เพราะได้อ่านข่าวมาว่าทางรัฐกำลังจะเปลี่ยนแปลงให้คนต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายสมัครใบขับขี่ได้ ถ้าสอบข้อเขียนผ่าน ก็จะได้ใบขับขี่ชั่วคราว (Learner’s Permit) แต่ไม่สามารถขับรถได้ถ้าหากไม่มีผู้ที่มีใบขับขี่ในรัฐมาแล้วหนึ่งปีขึ้นไปนั่งในรถไปด้วย 

กว่าจะได้ขึ้นบ้านใหม่ ขอบคุณบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของ ‘คุณอา’ แต่ต้องเหวอกันถ้วนหน้า เมื่อรถแวนหายไป

หลังจากตอนก่อน ที่ผมได้ไปดูอพาร์ตเมนต์กับพี่ลิซ ผมก็รีบกุลีกุจอไปทำบัตรประกันสังคมเพื่อที่จะได้เลขที่ของบัตรมาเปิดบัญชีธนาคาร 

ย้อนความไปเล็กน้อยว่า สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เวลาต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ต้องถามคนที่มีประสบการณ์ เราก็เลยถามคุณอาผู้หญิงว่า เราจะไปทำบัตรประกันสังคมได้ที่ไหน คุณอาบอกว่าต้องไปที่ตึกของทางรัฐบาลกลาง (Federal building) ซึ่งอยู่ในใจกลางเมืองที่เรียกว่า North Station และถ้าหากเราจะไปตั้งต้นจากโรงเรียนต้องนั่งรถใต้ดินสายเขียว B เข้าเมือง (Inbound) และลงเปลี่ยนรถสายเขียวอีกขบวนที่จุดปลายทางคือ North Station ที่สถานี Boylston ซึ่งใกล้กับที่ทำงานคุณอา คุณอาเลยบอกว่าถ้าเรามาถึงที่สถานีแล้วให้เดินมาหาท่าน จะได้ไปด้วยกัน 

พอเราไปถึงตึกรัฐบาลกลางแล้ว เราต้องเดินผ่านโต๊ะต้อนรับ พนักงานที่จุดนั้นบอกให้ทุกคนหยุดเข้าแถวเพื่อรอตรวจเอกสารว่ามีครบตามที่ทางการได้ระบุไว้หรือไม่ ถ้าใครมีเอกสารไม่ครบ เขาก็จะให้กลับไปและมาใหม่เมื่อมีเอกสารพร้อม พอถึงตาเราเขาก็ตรวจว่าเรามีหนังสือเดินทางและเอกสารที่ทางโรงเรียนรับรองว่าเราเป็นนักเรียน (I-20) หรือเปล่า เมื่อเขาเห็นว่าเรามีครบ เขาก็ยื่นบัตรคิวให้เรา 

ผมรออยู่สักประมาณชั่วโมงกว่า ๆ กว่าจะทำเรื่องเสร็จ แต่แล้วก็อึ้งสนิทเมื่อพนักงานบอกว่าบัตรจะส่งมาที่บ้านภายใน 7-10 วัน เราก็นึกในใจว่าทางอพาร์ตเมนต์เขาคงยึดเงินมัดจำที่พี่ลิซให้ไว้แน่ ๆ เพราะกว่าบัตรจะมาเพื่อให้เราไปเปิดบัญชีธนาคาร ก็คงผ่านหนึ่งอาทิตย์ไปแล้ว 

ตอนนั้นผมมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงปรับทุกข์กับคุณอา ท่านบอกว่าเดี๋ยวท่านจะลองติดต่อไปหาอแมนดาเผื่อจะมีวิธีแก้ไข เมื่อถึงออฟฟิศคุณอา ท่านก็โทรคุยกับอแมนดาอยู่พักใหญ่ พอท่านวางหู ท่านก็บอกให้เราเตรียมตัวเดินไปหาอแมนดาด้วยกัน 

ตึกอพาร์ตเมนต์อยู่ประมาณสามสี่ช่วงตึกจากออฟฟิศคุณอา เดินประมาณสิบนาทีก็ถึง พอเราสองคนเจออแมนดา คุณอาก็หยิบสมุดเช็คออกมาแล้วเขียนเช็คให้อแมนดาสองใบ ซึ่งเป็นเงินมัดจำค่าเช่าเดือนสุดท้ายและค่าประกันความเสียหายของห้อง หลังจากที่อแมนดารับเช็คเธอก็ยื่นเอกสารมาให้เราและคุณอาเซ็น เราก็ถึงบางอ้อว่าคุณอาช่างมีความกรุณามาค้ำประกันให้เราได้มีบ้านอยู่ เราตื้นตันใจในความมีน้ำใจของคุณอา และตั้งปณิธานว่าเราจะไม่ลืมท่าน ทุกวันนี้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว เรายังโทรหาท่านและซื้อของฝากท่านอย่างสม่ำเสมอ

ชมบ้านใหม่ แท็กติกหาอพาร์ตเมนต์เช่าในบอสตัน ต้องกล้าต่อรอง เพื่อทางเลือกที่ดีที่สุด

จบจากประสบการณ์ในการปรับปูพื้นฐานภาษาไปเมื่อตอนก่อน ในตอนนี้ผมจะเล่าถึงพี่ลิซสาวสวยผมยาวตาโตและยิ้มหวานเป็นแฟนลูกชายของคุณป้า ซึ่งผมเคยรู้จักพี่ลิซแบบเผินๆ ตอนที่พี่เขาเรียนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ 

ตอนที่เจอพี่ลิซที่บอสตันนั้น พี่เขาก็เรียนที่ BU เหมือนกัน แต่เขาอยู่กับน้องสาวที่อพาร์ตเมนต์นอกเมืองที่ Natick เมืองทางตะวันตกของบอสตัน เพราะพี่เขาชอบห้องนอนกว้างและตู้เสื้อผ้าใหญ่ที่ขนาดครึ่งหนึ่งของห้องนอน เวลาพี่เขาจะขับมาเรียนก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมง ส่วนเรานั้นเป็นคนที่ไม่ชอบขับรถไกล ยิ่งมาใหม่ ๆ ยังไม่คุ้นชินกับถนนหนทาง สมัยนั้นยังไม่มีจีพีเอส ต้องดูแผนที่ซึ่งเราดูไม่เป็น จากเหนือเป็นใต้ เราก็เลยบอกให้พี่เขาช่วยหาที่พักใกล้ขนส่งมวลชน ไปไหนมาไหนจะได้ขึ้นรถใต้ดินอย่างสบายใจเฉิบ 

พี่เขาพาผมไปดูอพาร์ตเมนต์หลายแห่ง แต่ราคาค่อนข้างสูงประมาณมากกว่าหนึ่งพันเหรียญต่อเดือน ไอ้เราก็เกรงใจคุณพ่อคุณแม่เลยขอดูที่ถูกกว่า ซึ่งพอดีพี่เขาก็เห็นโฆษณาอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่ในแหล่งช็อปปิงหรู Copley Place ในใจกลางเมืองบอสตัน เขาจึงพาเรามาลองดูเผื่อว่าจะมีโปรโมชันดีสำหรับตึกที่พักใหม่ 

เรานัดพนักงานฝ่ายเช่ามาก่อน พอเรามาถึงที่ตึก ก็มีผู้หญิงผมทองตาสีเขียวทับทิมตัวสูงเปรียวอายุประมาณสามสิบปลาย ๆ นั่งรออยู่ที่ล็อบบี้ เธอแนะนำตัวเองว่าชื่ออแมนดา แล้วพาเราผ่านพนักงานเฝ้าประตูเพื่อขึ้นลิฟต์ไปดูห้องพัก สีที่ใช้ในตึกนี้มีอยู่สี่สีคือแดงเลือดนก ดำ ขาว และน้ำตาลเข้ม 

อแมนดาพาเราไปดูห้องพักชั้นสิบซึ่งเป็นห้องนอนเดียวขนาดใหญ่ ซึ่งค่าเช่าประมาณหนึ่งพันสองร้อยเหรียญ เราบอกอแมนดาว่าห้องนี้เกินงบที่เราตั้งไว้ เราไม่อยากได้ห้องที่เกินพันเหรียญ เธอบอกว่ามีห้องขนาดกลางชั้นสามที่ยังว่างอยู่ราคาเดือนละแปดร้อยห้าสิบเหรียญ เราได้ยินราคาเลยหูผึ่งสนใจ พอเปิดประตูห้อง ห้องน้ำอยู่ด้านซ้ายติดกับห้องนอน ด้านขวาของประตูเข้ามีครัวเป็นซอกเล็ก ๆ โดยมีกำแพงกั้นเป็นสัดเป็นส่วนจากห้องนั่งเล่น สภาพห้องต่าง ๆ มีกลิ่นสีใหม่ นอกจากประตูหลักที่เปิดเข้าห้องทีเป็นสีแดงเลือดนกแล้ว ทุกอย่างในห้องชุดนั้นเป็นสีขาวโพลนหมด เมื่อเรามองห้องอีกทีจากประตูเข้า ก็คิดในใจว่าขนาดของห้องเหมาะสมกับสองคนอยู่เผื่อตอนแฟนเรามาจากเมืองไทย เราจึงตอบตกลงอแมนดาว่า เราตัดสินใจที่จะเช่าห้อง

เมื่อพี่ลิซได้ยินเราตอบกับอแมนดา เธอก็รีบส่งสัญญาณจุ๊ปากว่าอย่าเพิ่ง แล้วเธอก็รีบบอกอแมนดาสวนไปว่าจริง ๆ แล้วเธอกำลังจะพาเราไปดูอพาร์ตเมนต์อีกที่แถว Allston ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย แถมทางผู้บริหารของตึกนั้นทำโปรโมชันค่าเช่าเดือนแรกฟรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top